งานวิจัย | Research
การใช้เทคนิค LOOP-MEDIATED ISOTHERMAL AMPLIFICATION (LAMP)
ตรวจหาเชื้อราไฟทอปธอราในทุเรียน
DETECTION OF PHYTOPHTHORA SPP. IN DURIAN USING
LOOP-MEDIATED ISOTHERMAL AMPLIFICATION (LAMP) METHOD
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ศึกษาการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนจากเชื้อ Phytophthora palmivora โดยเก็บตัวอย่างจากต้นทุเรียนที่แสดงอาการของโรคจากสวนทุเรียนในอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี จำนวน 20 ตัวอย่าง พบเชื้อรา P. palmivora จำนวน 12 ตัวอย่าง และตรวจไม่พบเชื้อ P. palmivora จำนวน 8 ตัวอย่าง จากการคัดแยกเชื้อและศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของ P. palmivora โดยการเลี้ยงเชื้อราบนสไลด์ พบว่า เชื้อที่แยกได้มีรูปร่างลักษณะของโคโลนีเป็นแบบ Rosette สปอร์แรงเจียมมีลักษณะเป็นวงรี เป็นแบบ Ovoid ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ การเพาะเลี้ยงบนอาหารวุ้นแครอท พบว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดี การตรวจวิเคราะห์เชื้อ P. palmivora โดยการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอด้วยเทคนิคแลมป์ (LAMP) ร่วมกับดีเอ็นเอไบโอเซ็นเซอร์แบบแถบ (Dipstick DNA biosensor) พบว่า สามารถตรวจจับกับยีนเป้าหมายได้ทั้ง 12 ตัวอย่าง การตรวจสอบความไว พบว่า ความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถตรวจสอบเชื้อได้ คือ 10-5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร การตรวจสอบความจำเพาะของไพรเมอร์กับเชื้ออื่น พบว่า ไม่เกิดปฏิกิริยาการข้ามกับเชื้อราอื่นๆ แสดงว่าวิธีการวิเคราะห์มีความจำเพาะเจาะจงต่อเชื้อ P. palmivora ดังนั้น วิธีตรวจวิเคราะห์เชื้อรา P. palmivora ในทุเรียน ด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับดีเอ็นเอไบโอเซ็นเซอร์แบบแถบเป็นวิธีการที่ทำได้อย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำสูง สามารถทำได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง ภายในเวลา 60-90 นาที และใช้ปริมาณดีเอ็นเอเพียงเล็กน้อย การตรวจวิเคราะห์เชื้อได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เทคนิคนี้เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้
คำสำคัญ: ไฟทอปธอรา ปาล์มมิโวลา ดีเอ็นเอไบโอเซ็นเซอร์แบบแถบ แลมป์
ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย นอกจากจะผลิตทุเรียนเพื่อบริโภคในประเทศแล้วยังมีการผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มทางการตลาดที่ดี พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และชะนี เป็นต้น การปลูกทุเรียนมักพบปัญหาโรคพืชและโรคที่สําคัญที่พบเป็นส่วนมากคือ โรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora เชื้อราชนิดนี้ ทําใหตนทุเรียนทรุดโทรมและตายในที่สุด ด้วยเหตุนี้ทุเรียนจึงเป็นไม้ผลที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างดี ให้ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืช การระบาดของโรคสามารถแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของแหล่งปลูกเป็นสาเหตุให้คุณภาพผลผลิตและราคาของทุเรียนลดลง เกษตรกรชาวสวนทุเรียนควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคของทุเรียน และการป้องกันโรค ให้ถูกต้อง เพื่อให้ทุเรียนมีคุณภาพดีขึ้นและช่วยเพิ่มมูลค้าทางการค้ามากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจสอบเชื้อก่อโรคด้วยการนำเทคนิคทางด้านอณูชีววิทยามาใช้ในการทำนายการเกิดโรค โดยอาศัยหลักการเพิ่มจำนวนของดีเอ็นเอของเชื้อที่ก่อโรคในบริเวณที่จำเพาะเพื่อตรวจสอบความแตกต่างของยีนที่ผิดปกติหรือยีนที่ทำให้เกิดโรค เทคนิคทางอณูชีววิทยาที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ เช่น วิธี Loop mediated isothermal amplification (LAMP) ใช้ตรวจวิเคราะห์เชื้อรา Phytophthora spp. โดยอาศัยหลักการของการเพิ่มขยายยีนโดยใช primer ที่สามารถตรวจสอบยีนที่มีความจำเพาะต่อยีนเปาหมายได้ การพัฒนาเทคนิค Loop-mediated LAMP ร่วมกับวิธี lateral flow dipsticks (LFD) เป็นเทคนิค DNA biosensor สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งให้ผลการตรวจวิเคราะห์ที่มีความไวและมีความจำเพาะสูง สามารถนำไปใช้ในงานตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อที่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยได้ และไม่ต้องอาศัยเครื่องมือที่มีราคาแพง ดังนั้นการพัฒนาเทคนิค LAMP ร่วมกับวิธี LFD สามารถตรวจคัดกรองเชื้อ Phytophthora spp. เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรครากเน่าและโคนเน่าได้ในระยะเริ่มแรกที่มีการเกิดโรคในทุเรียน เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและกำจัดโรคได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเกษตรกรในการลดการใช้สารเคมีและลดต้นทุนการผลิต โดยสามารถผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐานการส่งออกมากยิ่งขึ้น